เนื้อวากิว A5 คืออะไร เหมือนกระดาษ A4 มั้ย?

18 March 2020

ขออภัยที่ topic ดูตึ่งโป๊ะไปสักนิด แต่มันคือสิ่งที่เราตั้งคำถามหลังจากได้ยินคำว่าเนื้อวากิว A5 เมื่อหลายปีก่อน งงมากว่าทำไมต้องมี A B C และเลขต่อท้ายด้วย มารู้ที่หลังว่ามันคือการจัดเกรดเนื้อเพื่อประเมินคุณภาพของเนื้อวัว โดยสมาคมการจัดเกรดเนื้อแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Meat Grading Association, JMGA) โดยแบ่งเป็น 15 ระดับ เกรด A-C เป็นการจัดตามปริมาณผลผลิต (Yield score) และ 1-5 เป็นการจัดตามคุณภาพอันได้แก่
- ลายไขมันหินอ่อน
- สี ความมันวาว คุณภาพไขมัน
- สีกับความสว่างของเนื้อ
- ความแน่นกระชับและสัมผัสของเนื้อ

อ่านเรื่องราวของสายพันธุ์วัววากิวญี่ปุ่นที่นี่
โดยสุดยอดของเนื้อวากิวคงหนีไม่พ้น A5 อย่างแน่นอน ทางสมาคมจะประเมินจากเนื้อตรงหน้าตัดระหว่างซี่โครงหมายเลข 6 และ 7

เกรดตามปริมาณผลผลิต

คำนวณจากอัตราส่วนของเนื้อส่วนที่กินได้เทียบกับวัวทั้งตัว
เกรด A มีปริมาณเนื้อที่กินได้มากกว่า 72 %
เกรด B มีปริมาณเนื้อที่กินได้ 68 - 72 %
เกรด C มีปริมาณเนื้อที่กินได้ต่ำกว่า 62 %

เกรดตามคุณภาพของเนื้อ

อ้างอิงจาก Beef Fat Standard (B.F.S.)
- ลายไขมันหินอ่อน มี 12 ระดับ
o เกรด 1 ระดับ 1
o เกรด 2 ระดับ 2
o เกรด 3 ระดับ 3 - 4
o เกรด 4 ระดับ 5 - 7
o เกรด 5 ระดับ 12 – 8

สี ความมันวาว คุณภาพไขมัน

ไขมันที่ดีต้องมีสีขาว เป็นมันวาว ไม่ขุ่นไม่เหลือง แบ่งออกเป็น 7 ระดับ ค่าที่ดีที่สุดคือ 1 เนื้อเกรด 5 จะต้องมีค่าไม่เกิน 4 (1 – 4 )

ความแน่นกระชับและเนื้อสัมผัส

ตัดสินจากการมองและสัมผัสเนื้อจริง โดยเกรด 5 ต้องมีเนื้อที่แน่นกระชับมากและเนื้อสัมผัสละเอียดนุ่ม

สีและความสว่างของเนื้อ

สีที่ดีควรมีสีแดงสด ไม่ควรคล้ำหรือซีดจนเกินไป โดยแบ่งออกเป็น 7 ระดับ ( 1 = ซีด 7 = คล้ำ) เนื้อเกรด 5 ต้องอยู่ในระดับ 3 – 5 เท่านั้น

UNIVERSAL WAGYU MARK

UNIVERSAL WAGYU MARK ถ้าหากพบสัญลักษณ์นี้แสดงว่าเนื้อวากินของแท้แน่นอน เป็นสัญลักษณ์รับรองคุณภาพเนื้อวากิวจากประเทศญี่ปุ่น